.
พระรับเงินบาปไหม?
ญาติโยม ถวายเงินให้พระบาปไหม?
มี 2 คำถามโดยเฉพาะคำถามที่ 1 ถามกันมาก สงสัยกันมาก และก็มีคำตอบมาก
แต่เป็นคำตอบที่ไม่ค่อยเหมือนกัน บ้างก็ว่าผิด บ้างก็ว่าไม่ผิด.....
วันนี้มีคำตอบจากพุทธวจน มาช่วยให้หายสงสัย
ขอตอบคำถามที่ 2 ก่อนครับ ญาติโยมไม่บาป เพราะสิกขาบท ศาสดาเอาไว้ปรับ
ความผิด พระ ญาติโยมไม่เกี่ยว....
ส่วนคำถามที่ 1 ขอตอบด้วยพระสูตรนี้ครับ
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘
โย ปะนะ ภิกขุ ชาตะรูปะระชะตัง อุคคัณเหยยะ วา.....
“อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง
เงินอันเขาเก็บไว้ให้, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๙
โย ปะนะ ภิกขุ นานัปปะการะกัง รูปิยะสังโวหารัง.....
“อนึ่ง ภิกษุใดถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ,
เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
โย ปะนะ ภิกขุ นานัปปะการะกัง กะยะวิกกะยัง.....
“อนึ่ง ภิกษุใดถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ ,
เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
นี่คือศีลทั้ง 3 ข้อในศีลปาฏิโมก ซึ่งพระต้องสวดทุกกึ่งเดือน จะบอกว่าไม่ทราบ..ไม่ได้
อาบัติมี ๗ กองคือ
๑. ปาราชิก (แปลว่า ผู้พ่ายแพ้)
๒. สังฆาทิเสส (แปลว่า อาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ ในกรรม
เบื้องต้นและกรรมที่เหลือ)
๓. ถุลลัจจัย (แปลว่า ความล่วงละเมิดที่หยาบ)
๔. ปาจิตตีย์ (แปลว่า การละเมิดที่ยังกุศลให้ตก)
๕. ปาฏิเทสนียะ (แปลว่า จะพึงแสดงคืน)
๖. ทุกกฏ (แปลว่า ทำไม่ดี)
๗. ทุพภาสิต (แปลว่า พูดไม่ดี)
อาบัติปาราชิกมีโทษหนัก ทำให้ผู้ล่วงละเมิดขาดจากความเป็นภิกษุ
อาบัติสังฆาทิเสสมีโทษหนักน้อยลงมา ผู้ล่วงละเมิดต้องอยู่กรรมคือ
ประพฤติวัตรตามที่ทรงบัญญัติ จึงจะพ้นจากอาบัตินี้
ส่วนอาบัติ ๕ กองที่เหลือมีโทษเบา ผู้ล่วงละเมิดต้องประกาศสารภาพผิด
ต่อหน้าภิกษุด้วยกัน ดังที่เรียกว่าปลงอาบัติ
***แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นความผิดที่เบา ปลงได้ด้วยวาจาก็ตาม หากผิดบ่อยๆ ก็เหมือนกับ
คนมาทำงานสายวันละ 1 นาที..แต่สายทุกวันครับ
และมีคำถามๆต่อไปว่า..แล้วถ้าพระต้องมีความจำเป็นที่จะใช้เงินให้ทำอย่างไร?
ดูพระสูตรนี้ครับ
[๗๐] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้นนั้น มหาอำมาตย์ ผู้อุปัฏฐากของท่านพระอุปนันท-
ศากยบุตร ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปกับทูตถวายแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรสั่งว่า เจ้าจงจ่าย
จีวรด้วยทรัพย์จ่ายจีวรนี้ แล้วให้ท่านพระอุปนันทครองจีวร. จึงทูตนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันท-
ศากยบุตร ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ กะท่านพระอุปทนันทศากยบุตรว่า ท่านเจ้าข้า ทรัพย์สำหรับ
จ่ายจีวรนี้แล กระผมนำมาถวายเฉพาะพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร.
เมื่อทูตนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ตอบคำนี้ กะทูตนั้นว่า
พวกเรารับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ได้, รับได้แต่จีวรอันเป็นของควรโดยการเท่านั้น;
เมื่อท่านตอบอย่างนั้นแล้ว ทูตนั้นได้ถามท่านว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ?
ขณะนั้น อุบาสกผู้หนึ่งได้เดินไปสู่อารามด้วยกรณียะบางอย่าง จึงท่านพระอุปนันท-
ศากยบุตรได้กล่าวคำนี้กะทูตนั้นว่า อุบาสกนั้นแล เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย.
จึงทูตนั้น สั่งอุบาสกนั้นให้เข้าใจแล้ว กลับเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตรแจ้งว่า
ท่านเจ้าข้า อุบาสกที่พระคุณเจ้าแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น, กระผมสั่งให้เข้าใจแล้ว; ขอพระคุณ
เจ้าจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล.
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒
พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
สรุปว่า ถ้าพระต้องการใช้เงิน ให้ผ่านผู้ทำการแทนพระ (ไวยาวัจกร) ก็แค่นั้นเองครับ
ดังนั้นจึงตอบโจทย์แก่ญาติโยมได้ว่า
ญาติโยมสามารถถวายเงินให้พระได้ แต่ผ่านไวยาวัจร พระไม่สามารถรับเงินได้โดยตรง